Wednesday, 27 March 2024

ตาปลา ไม่ควรมองข้าม

07 Feb 2023
252

ปก ตาปลา ไม่ควรมองข้าม

ตาปลาคืออะไร “ตาปลา” ก็คือก้อนของหนังขี้ไคลซึ่งเกิดจากการเสียดสีของผิวหนังเรื้อรังเป็นเวลานานนั่นเอง เราจึงพบตาปลาเกิดขึ้นได้บ่อย ๆ ที่บริเวณฝ่าเท้า เพราะเป็นส่วนที่แบกรับน้ำหนักตัวของเราตลอดเวลาทั้งนี้ ตาปลามีด้วยกัน 2 ชนิด คือ “ตาปลาชนิดขอบแข็ง” มักขึ้นตามข้อพับ ส้นเท้า ฝ่าเท้า บริเวณที่ถูกกระแทก หรือเสียดสีบ่อย ๆ กับ “ตาปลาชนิดอ่อน” มักขึ้นตามง่ามนิ้วเท้า

ตาปลาเกิดจากอะไร

วันนี้ owenhillforsenate  จะพามาไขข้อข้องใจว่าทำไมการที่ผิวหนังเสียดสีกันนาน ๆ ถึงทำให้เกิดตุ่มตาปลาได้ล่ะ ? เรื่องนี้อธิบายได้ง่าย ๆ ว่า ผิวหนังของคนเรานั้นมีทั้งส่วนที่เป็นหนังกำพร้าและหนังแท้ ซึ่งมีสารเชื่อมให้ทั้งสองชั้นเกาะติดกัน แต่ถ้าผิวหนังถูกเสียดสีอย่างรุนแรง จะทำให้ผิวหนังกำพร้าแยกออกมาเป็นตุ่มพอง ๆ และถ้ายิ่งเสียดสีไปนาน ๆ เข้า จะยิ่งไปกระตุ้นให้ผิวหนังกำพร้าสร้างหนังขี้ไคลหนาขึ้นจนมีลักษณะแข็ง ๆ เป็นก้อนแหลม ๆ คล้ายลิ่ม พอกดเข้าไปตรงบริเวณตุ่มน้ำใส ๆ ก็จะรู้สึกเจ็บ

แล้วรู้ไหม…ว่าตาปลาไม่ได้เกิดเฉพาะที่ฝ่าเท้าอย่างที่พบกันบ่อย ๆ เท่านั้น แต่ยังสามารถเกิดได้ระหว่างซอกนิ้วเท้า ที่กระดูกนิ้วเสียดสีกัน หรือด้านบนของหลังเท้า ที่เกิดจากการสวมรองเท้าหัวแบนบ่อย ๆ ทำให้ผิวหนังส่วนนั้นเสียดสีกับรองเท้า สรุปได้ว่า ตาปลาเกิดจากแรงเสียดสีของผิวหนังนั่นเอง ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อใด ๆ อย่างที่หลายคนเข้าใจกัน

ตาปลา

อาการของตาปลา

ถ้าเป็นตาปลาขึ้นมาล่ะก็สิ่งแรกที่เราจะรู้สึกได้ก็คือความเจ็บปวดนี่แหละ เห็นตุ่มแข็ง ๆ เม็ดเล็กนิดเดียว ก็ทำให้เจ็บจี๊ดได้เลยนะ โดยเฉพาะถ้าตาปลามีขนาดใหญ่ แล้วเราต้องไปทำกิจกรรมที่ต้องใช้ฝ่าเท้ารับน้ำหนักมาก เช่น วิ่ง เดินนาน ๆ ยืนนาน ๆ หรือคนที่เป็นตาปลามีน้ำหนักมาก ก็ยิ่งทำให้เจ็บมากขึ้น เพราะก้อนแข็ง ๆ นี้จะยิ่งถูกกดให้ลึกเข้าไปในผิวหนัง บางทีไปกดทับกระดูกหรือเส้นประสาทเข้าอีก แบบนี้ต้องรีบหาวิธีรักษาเลย

ตาปลากับหูดต่างกันตรงไหน

หลายคนเห็นก้อนไตแข็ง ๆ ขึ้นมาที่เท้า ไม่แน่ใจว่าเป็นหูดหรือตาปลา ให้ตรวจดูแบบนี้ว่า ถ้าเป็นหูด ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสฮิวแมน เพ็ปพิลโลมาไวรัส (Human papillomavirus) หรือเชื้อ HPV ไปกระตุ้นเซลล์ผิวหนังให้แบ่งตัวเพิ่มขึ้นเป็นก้อนในชั้นหนังกำพร้า มักจะเกิดขึ้นกับเท้าเดียว และจะรู้สึกเจ็บมากถ้าบีบก้อนด้านข้างเข้าหากัน เมื่อปาดผิวตุ่มนั้นออกดูจะเป็นเส้นสีขาวอัดแน่น ถ้าตัดลึกลงไปอีกจะมีเลือดออก เพราะมีเลือดมาเลี้ยงเซลล์ผิวหนังตรงส่วนนี้ด้วย

แต่ถ้าเป็นตาปลาบีบด้านข้างจะไม่เจ็บ จะเจ็บก็ต่อเมื่อกดลงไปในตุ่ม และในตุ่มนั้นจะไม่มีเลือดออก เพราะเป็นเพียงผิวหนังที่ขี้ไคลหนาขึ้นจากการกดทับและเสียดสีเป็นเวลานานเท่านั้น

ตาปลาที่เท้า

วิธีรักษาตาปลาที่เท้า

การรักษาตาปลาให้ได้ผลนั้นมีอยู่หลายวิธีที่ขอนำเสนอก็คือ

  1. ใช้พลาสเตอร์ที่มีกรดซาลิไซลิก 40% ปิดส่วนที่เป็นตาปลาทิ้งไว้ 2-3 วัน จากนั้นค่อยแกะพลาสเตอร์ออก แล้วแช่เท้าในน้ำอุ่นเพื่อให้ผิวหนังตรงฝ่าเท้านิ่มลง จะช่วยทำให้ตาปลาหลุดลอกออกไปได้ง่ายขึ้น แต่ถ้าตาปลาหลุดลอกออกไปยังไม่หมด ก็ให้แปะพลาสเตอร์ซ้ำ แล้วกลับมาแช่น้ำอุ่นอีกครั้ง
  2. ใช้ยาแอสไพริน (แต่ไม่ได้ให้ทานนะ) โดยในแอสไพรินก็มีกรดซาลิไซลิกเช่นกัน ก็ช่วยกัดตาปลาได้ (แต่คุณต้องมั่นใจด้วยว่าตัวเองไม่แพ้ยาแอสไพริน) วิธีใช้ก็คือ นำแอสไพริน 5 เม็ดมาบดเป็นผง แล้วผสมกับน้ำมะนาว 12 ช้อนชา และน้ำเปล่าอีก 12 ช้อนชา จากนั้นนำมาป้ายตรงตาปลา แล้วใช้พลาสติกมาห่อไว้ ตบท้ายด้วยการพันผ้าขนหนูอุ่น ๆ ทับอีกชั้นหนึ่ง ทิ้งไว้ 10 นาทีแล้วถอดออก แล้วใช้หินมาขัดเบา ๆ จะช่วยให้ตาปลาลอกออกมา
  3. ทายากัดตาปลาหรือหูด วันละ 1-2 ครั้ง หรือจนกว่าตาปลาจะหลุดออกไปหมด โดยมีคำแนะนำคือ ก่อนทายาให้แช่เท้าในน้ำอุ่นก่อนสัก 15-20 นาที เพื่อให้ผิวหนังนิ่มขึ้น แล้วใช้ผ้าขนหนูมาถูตรงตาปลาเพื่อลอกขุยออก จากนั้นอาจใช้วาสลินหรือน้ำมันมะกอกมาทาผิวรอบ ๆ ตาปลา เพื่อที่ผิวบริเวณนั้นจะได้ไม่ถูกตัวยาไปกัดผิวหนัง แล้วค่อยแต้มยาลงบนตาปลา
  4. ผ่าตัดหรือใช้เลเซอร์จี้ตาปลาออก เป็นอีกวิธีที่สะดวกรวดเร็ว แต่ก็อาจทิ้งแผลเป็นไว้ และที่สำคัญคือค่ารักษาแพงกว่าวิธีอื่น ๆ แต่วิธีนี้จะเหมาะกับผู้ที่เป็นตาปลาเพราะเกิดจากความผิดปกติของกระดูกที่ทำให้กระดูกเสียดสีกัน

ส่วนใครที่เคยได้ยินคนแนะนำให้เอาธูปจี้ตาปลา หรือใช้ของมีคมเฉือนตาปลาออก ข้อเตือนไว้ตรงนี้เลยค่ะว่าเป็นวิธีที่อันตรายมาก เพราะนอกจากอาจไม่ได้ช่วยให้ตาปลาหายแล้ว ยังทำให้เกิดแผลอักเสบติดเชื้อตามมาเป็นของแถม แบบนี้ไม่ไหวแน่